โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หรือ ส.ก. (❁´◡`❁)
ประวัติโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (อังกฤษ: Suankularb Wittayalai School; อักษรย่อ: ส.ก. / S.K.) เป็นโรงเรียนชายล้วน ระดับชั้น มัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ชื่อเดิม: กรมสามัญศึกษา) กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2424 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อนับอย่างสากลถือเป็น พ.ศ. 2425) ถือเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย
โรงเรียนตั้งอยู่เลขที่ 88 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 7 หลัง สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ โรงอาหาร อาคารอเนกประสงค์ และหอประชุม มีการจัดการเรียนการสอนในช่วงชั้นการศึกษาที่ 3 และ 4 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 36 ห้องเรียน มัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 42 ห้องเรียน รวมทั้งสิ้น 78 ห้องเรียน ในรูปแบบ 12-12-12/14-14-14
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพของระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมด้านต่าง ๆ ถือเป็นโรงเรียนต้นแบบในเครือ "สวนกุหลาบวิทยาลัย" มีการสร้างพันธกิจสำคัญร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยการบริหารจัดการขององค์กรเครือข่ายสวนกุหลาบ สร้างบรรทัดฐานการเรียนการสอนไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีงานสวนกุหลาบสัมพันธ์และงานลูกเสือสวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยยังเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงเรียนจตุรมิตรสามัคคี ประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งเป็นประเพณีการแข่งขันฟุตบอลและการแปรอักษรที่จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี ณ สนามศุภชลาศัย โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ
ประวัติต่อไป
ราว พ.ศ. 2325 เมื่อแรกสร้างพระบรมมหาราชวังในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณวังข้าง ด้านใต้หมดเพียงป้อมอนันตคิรี กำแพงพระราชวังหักตรงไปทางตะวันตกจนถึงป้อมสัตบรรพตในระหว่าง กำแพงพระบรมมหาราชวังกับวัดพระเชตุพนมีบ้านเสนาบดีและวังเจ้า คั่นอยู่หลายบริเวณครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 2 จึงมีการขยายเขตพระราชวังออกไป ในพระราชวังด้านใต้มีที่ว่าง โปรดฯให้ทำสวนปลูกต้นกุหลาบ สำหรับเก็บดอกใช้ในราชการจึงเกิดมีสวนกุหลาบขึ้นในพระราชวัง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา และในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯให้แบ่งสวนกุหลาบส่วนหนึ่งสร้างพระคลังศุภรัตน ทำเป็นตึกรูปเก๋งจีน แต่พื้นที่นอกจากสร้างคลังศุภรัตน ยังคงเป็นสวนกุหลาบต่อมาอย่างเดิม
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เจริญพระชันษาถึงเวลาจะเสด็จมาประทับอยู่พระราชวังชั้นนอก แต่พระบรมพระชนกนาถมีพระประสงค์ที่จะให้เสด็จประทับอยู่ในที่ใกล้พระองค์ จึงโปรดฯให้จัดตำหนักพระราชทานเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ในสวนกุหลาบ บริเวณอาคารพระคลังศุภรัตน ซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้เรียกพระตำหนักนี้ว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็โปรดฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบแทน จนออกจากวัง และจากนั้นมาก็ใช้เป็นคลังเก็บของเรื่อยไป
โรงเรียนที่ฉันอยากเรียน
โรงเรียนสงวนหญิง โรงเรียนสตรีสุพรรณบุรี (สงวนหญิง) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2472 โดยแยกจากโรงเรียนประจำจังหวัดกรรณสูตศึกษาลัย เดิมทีเดียวการศึกษาของจังหวัดสุพรรณบุรีจัดแบบสหศึกษาและมีโรงเรียนประจำจังหวัดเพียงแห่งเดียว ต่อมาพระยาพิศาลสารเกษตร (พร พิมพสุต) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เห็นสมควรจะได้แยกนักเรียนสตรีไว้ต่างหาก ไม่ปะปนกับนักเรียนชาย เพื่อเป็นการขยายการศึกษาแก่สตรีในจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านจึงได้สร้างโดยสละทรัพย์ส่วนตัวพร้อมทั้งขอบริจาคจากเจ้านาย ข้าราชการ คหบดี ประชาชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้น ดังปรากฏพระนามและนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนสงวนหญิง ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และจารึกพระนามแลนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรี “สงวนหญิง” ดังนี้ “ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ รายละ 200 บาท รวม 400 บาท อำมาตย์เอก พระยาพิศาลสารเกษตร และคุณหญิงพิศาลสารเกษตร 133 บาท นายพอน สอิ้งทอง 120 บาท นายหุ่ย แซ่เฮง นายเจี่ยกหรือเตี้ย รายละ 100 บาท .... รวมทั้งสิ้น เป็นเงิน 14,984 บาท 74 สตางค์” ส่วนการตั้งชื่อโรงเรียนสงวนหญิงนั้น ปรากฏข้อความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 47 หน้า 2685 วันที่ 21 ธันวาคม 2473 เรื่อง สร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรี “สงวนหญิง”ว่า “...โรงเรียนหลังนี้กระทรวงธรรมการให้นามว่า “สงวนหญิง”[1]และได้จัดการ และได้จัดการทำบุญฉลอง เปิดการสอนแล้ว แต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2473”
การก่อสร้างเริ่มขึ้นที่วัดเจดีย์ยอดเหล็ก ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลากลางเก่าใกล้ตลาดจังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา ในปีแรกที่แยกมามีชั้นเรียนสูงสุดเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และยังเป็นโรงเรียนสหศึกษาอยู่ แต่มีนักเรียนชายเรียนร่วมตั้งแต่ชั้นเตรียมจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น ในระดับชั้นมัธยมมีเฉพาะนักเรียนหญิงและได้ขยายชั้นทุกปีจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6
ต่อมาเมื่อมีนักเรียนเพิ่มขึ้น และสถานที่ตั้งเดิมคับแคบ ใน พ.ศ.2504 นายพัฒน์ บุณยรัตนพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้ย้ายโรงเรียนสงวนหญิงมายังที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดินของวัดเก่า คือ วัดโรงม้า
การก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ ดำเนินการในสมัยที่ นางสาวประภาส ธรรมทฤษฏี เป็นครูใหญ่ การก่อสร้างและตรวจรับงานแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2504 จึงได้ย้ายนักเรียนขึ้นตึกเรียนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2504 และได้ประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2505 โดย หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี
นับแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันรวมเวลากว่า 90 ปี ปัจจุบันระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รับนักเรียนหญิงล้วน ยกเว้น นักเรียนโครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program : EP) และโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. (Smart Class) เป็นสหศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแบ่งการเรียนการสอนได้แก่ ห้องเรียนปกติ โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment of Science Mathematics Technology and Environment : SMTE) และ โครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) เป็นสหศึกษา
ปัจจุบันโรงเรียนสงวนหญิง ตั้งอยู่เลขที่ 134 ถนนประชาธิปไตย ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีอันเป็นที่ตั้งของวัดโรงม้า (ร้าง) ในเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา เนื่องจากสถานที่ดั้งเดิมคับแคบ และอยู่ใกล้ตลาดไม่สามารถจะปรับปรุงขยายโรงเรียนได้ จึงได้ย้ายมาอยู่สถานที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.2504 โดยมีการขยายชั้นเรียนสร้างอาคารเรียนเพิ่มเป็น 11 อาคาร ทั้งนี้โรงเรียนสงวนหญิงเป็นโรงเรียนที่ปรากฏชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวิชาการบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่งดงามร่มรื่นภายในโรงเรียน ตลอดจนความประพฤติความมีระเบียบวินัยของนักเรียน